ชาติพันธุ์ ลาว
เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต.... ชุมชนลาว บ้านหันทราย
การอพยพย้ายถิ่น
บ้านหันทราย อรัญประเทศ
กลุ่มคนที่พูดภาษาลาวเป็นชนกลุ่มใหญ่ในอำเภออรัญประเทศ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของประชากร การตั้งถิ่นฐานของคนลาวในอำเภออรัญประเทศเริ่มตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาจากลาวในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดียกทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ กองทัพเดินทางผ่านเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม วัฒนานคร และอรัญประเทศ และกวาดต้อนผู้คนจากหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และเชียงขวางเข้ามาในไทย ชาวลาวเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อเป็นกันชนวัฒนธรรมเขมร นอกจากนี้ยังมีการอพยพของคนลาวจากอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอรัญประเทศเพิ่มขึ้นหลังปี พ.ศ. 2500 เนื่องจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลไทย รวมถึงการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และการก่อสร้างถนนสายยุทธศาสตร์เชื่อมอีสานใต้กับภาคตะวันออก
ลักษณะที่อยู่อาศัย
ในปัจจุบัน ชาติพันธุ์ลาวส่วนใหญ่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหันทราย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมีหลายหลังคาเรือนรวมตัวกันและยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีของตน ผู้สูงอายุเล่าว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากเวียงจันทน์ โดยมีนายบุญ นายพรานจากอำเภอกบินทร์บุรีเป็นคนแรกที่มาตั้งถิ่นฐาน ต่อมามีผู้คนอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ ชื่อ "หันทราย" มาจากทรายที่ร้อนในฤดูฝนจนผู้คนต้องเดินอย่างรวดเร็ว
หมู่บ้านประสบการระบาดของโรคห่า ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 113 คน จนต้องอพยพไปที่อื่นชั่วคราว เมื่อโรคระบาดหมดไป ชาวบ้านกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้ง บ้านเรือนทำด้วยไม้ มีหน้าต่างน้อย ใต้ถุนต่ำ รอบบ้านปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด วัว รวมถึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าใต้ถุนบ้านในช่วงว่างจากการเกษตร
ภาษา
ภาษาไทยอีสานเป็นภาษาที่ใช้พูดในชนบทของจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากมีชาติพันธุ์ลาวหรือไทยอีสานอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก ประชาชนส่วนหนึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์และหัวเมืองอีสานในสมัยสงครามไทย-ลาวเมื่อครั้งกรุงธนบุรี และสืบเนื่องจากกรณีกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากนั้นยังมีการอพยพมาเรื่อย ๆ เพราะสระแก้วมีความอุดมสมบูรณ์และที่ดินรกร้างมาก ภาษาไทยอีสานจะแตกต่างจากภาษาไทยกลางตรงที่ไม่มีเสียง “ฉ ช ร” และจะใช้ “ซ” แทน “ช” ในภาษาไทยกลาง
การแต่งกาย
ประเพณีสำคัญ
ประเพณีการเลี้ยงปู่ตา
ประเพณีเลี้ยงปู่ตาเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป เพราะเมื่อปู่ตามีชีวิตอยู่นั้นได้สร้างคุณงามความดีไว้กับลูกหลานและสังคมมากมายหลายประการ เช่น ให้การเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน ให้เป็นคนดี สะสมสาธารณสมบัติไว้เพื่อลูกหลาน ดังนั้น เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที จึงมีการเลี้ยงปู่ตาสืบต่อเป็นประเพณี มักจะทำระหว่างเดือน 6-7
ประเพณีบุญข้าวจี่
เป็นประเพณีของชาติพันธุ์ลาว ในจังหวัดสระแก้ว เมื่อถึงเดือน 3 จะนำไปถวายพระพระ เณร ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในหมู่บ้าน มูลเหตุแห่งการทำบุญข้าวจี่ คนชาติพันธุ์ลาว จังหวัดสระแก้ว มีความเชื่อว่า หากทำบุญด้วยข้าวจีจะได้รับผลบุญมาก ได้ไปเกิดบนสวรรค์เช่นเดียวกับนางปุณณทาสีในพุทธประวัติ นอกจากนี้การให้ทานด้วยก้อนข้าวจี่นั้น ยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าความยากจนไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน และเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงน้ำใจ ศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริงของคนชาติพันธุ์ลาว ในจังหวัดสระแก้ว
ประเพณีการลงแขก
เป็นประเพณีที่แสดงถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกันฉันญาติมิตรของ ประชาชนจังหวัดสระแก้ว เพราะการลงแขก ในภาษาอีสาน หมายถึง การบอกกล่าว ขอแรงญาติสนิทมิตรสหายให้มาช่วยทำงาน
ประเพณีบุญข้าวเปลือก
ประเพณีบุญข้าวเปลือกของชาติพันธุ์ลาวบ้านหันทราย ม.1,2,5,6 เป็นประเพณีที่ทุกบ้านจะนํา ข้าวเปลือกหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว และนําข้าวเข้ายังเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจะนําข้าวเปลือกมาบริจาคเพื่อ ร่วมทำบุญ โดยจะบริจาคให้กับโรงเรียนบ้านหันทราย วัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็น และวัดหันทราย 3 สถานที่สำคัญ ของหมู่บ้านจะเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี ข้าวที่ได้ จากการบริจาคจะนํามา กองร่วมกัน และทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ บุญข้าวเปลือก จากนั้นก็จะนําข้าวที่ได้รับจากการบริจาค ไปขายเพื่อนําเงินมาพัฒนา ปรับปรุงสถานที่ต่อไป
อาหาร
อาหารกลุ่มคนชาติพันธุ์ลาว โดยทั่วไปนั้น มีการปรุงแต่งอาหารน้อยที่สุด เน้นความเรียบง่ายแบบธรรมชาติรสชาติไม่ค่อยจัดจ้าน ชอบรสชาติเค็มนํา ตามด้วยรสเปรี้ยว วิธีการทำไม่ซับซ้อนอาหารของคนชาติพันธุ์ลาวเน้นความ เรียบง่ายอาหารที่นิยมรับประทานเป็นประจำ ของกลุ่มคนชาติพันธุ์ลาวในสระแก้ว คือ
แจ่วปลาร้า เครื่องปรุงประกอบด้วยหอมแดง กระเทียม พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด นําไปคั่ว สับรวมกันให้ละเอียด ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก แจ่วปลาร้าเป็น อาหารหลักของทุกครัวเรือน นิยมห่อใส่ใบตอง ไปรับประทานเวลาเดินทางเนื่องจากเป็น อาหารที่สะดวกในการพกพา
ซุปหน่อไม้ อาหารชาติพันธุ์ลาวบ้านหันทรายที่นําวัตถุดิบในท้องถิ่น มาปรุงอาหาร ได้แก่ หน่อไม้ เป็นวัตถุดิบหลักใส่ใบย่านางเพื่อปรับสมดุล นําผักหนามหรือผักชะอมมาใส่เพิ่มรสชาติ วัตถุดิบที่ทำให้หอม น่ารับประทาน ได้แก่ หัวหอมแดง พริกขี้หนู กระเทียม นํามาย่างไฟให้มีกลิ่นหอม แล้วนํามาตำรวมกันโดยมีเครื่องปรุงรสคือนํ้าปลาร้าที่ทำเอง
ข้าวต้มมัด เป็นอาหารหวาน และเป็นอาหารที่นิยมท่าในงานมงคล ชาวบ้านเชื่อว่า “ข้าวต้มมัด” จะสะท้อนถึงความสามัคคี กลมเกลียว ให้รักกัน ไม่มีวันจะพรากจากกัน งานไหนที่มีการจัดทำบายศรีต้องใส่ข้าวต้มมัดไว้ด้วยเสมอ
ศิลปะการแสดง
เซิ้งหรือลำเซิ้ง
เซิ้ง คือ การฟ้อนรํา เช่น เซิ้งกระติ๊บ เน้นเพลงสนุกสนาน ส่วนใหญ่จะเป็นขบวนแห่ฟ้อนรํากันไป เพื่อร่วมทำบุญที่วัด เซิ้งที่เป็นที่รู้จักในสระแก้ว เช่น เซิ้งบั้งไฟ และเซิ้งนางแมวขอฝน การฟ้อนรําของชาติพันธุ์ลาวยังใช้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
สถาปัตยกรรม
วัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็น
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 บ้านหันทราย ตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นวัดเก่าแก่ประจำบ้านหันทรายมีสถาปัตยกรรม ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวหันทราย ด้านหน้าของโบสถ์มีประติมากรรม รูปครุฑ บริเวณหน้าจั่วของโบสถ์ และบริเวณโบสถ์ทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานเสาเสมาธรรมจักร
ภูมิปัญญา
การทอผ้า
ชาติพันธุ์ลาว บ้านหันทรายส่วนใหญ่มีภูมิปัญญาด้านการทอผ้า (การมัดหมี่ การย้อมสี การทอผ้า) การทำบายศรี ด้านการจักสาน เครื่องมือทำมาหากิน เช่น ตะกร้า ลอบ ไซร์ ฯลฯ ที่ยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน