ชาติพันธุ์ ญ้อ
เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต.... ชุมชนญ้อ บ้านคลองน้ำใส
การอพยพย้ายถิ่น
บ้านคลองน้ำใส อรัญประเทศ
คนชาติพันธุ์ญ้อในจังหวัดสระแก้ว อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์หรือท่าอุเทนในสมัยที่เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากปราบกบฏแล้ว ได้นำผู้คนอพยพมาด้วย ชาติพันธุ์ญ้อ เดิมอพยพมาอยู่ที่บ้านดงอรัญ จังหวัดศรีโสภณ ราชอาณาจักรกัมพูชา และต่อมาอพยพเข้ามาในไทยทางด้านตะวันออกของจังหวัดสระแก้ว ในเขตอำเภออรัญประเทศ ปัจจุบัน ชาติพันธุ์ญ้อกลุ่มนี้ ได้กลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลคลองน้ำใส ตำบลเมืองไผ่ ตำบลท่าข้าม ตำบลผ่านศึก และในเขตเทศบาลตำบลอรัญประเทศ
ลักษณะที่อยู่อาศัย
บ้านเรือนของชาติพันธุ์ญ้อปลูกสร้างด้วยไม้ หลังคามุมด้วยหญ้าแฝก แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสังกะสีหรือกระเบื้องตามแต่ฐานะเจ้าของบ้านเดิม ก่อนที่จะอพยพมาอยู่ที่แห่งใหม่นี้บ้านส่วนใหญ่ของชาติพันธุ์ญ้อเป็นบ้านทรงไทยเดิมใต้ถุนสูงหลังคาโปร่ง ในปัจจุบันเป็นบ้านใต้ถุนสูงแต่หลังคาไม่สูงมากนักภายในบ้านจะมีห้องสำคัญอยู่ 2 ห้อง คือ ห้องเปิง ซึ่งเป็นห้องที่ไว้ทิ้งผีบรรพบุรุษ เป็นห้องเล็ก ๆ ไม่มีสิ่งของใด นอกจากหิ้งบูชา ปิดไว้เฉพาะไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัย ถือเคร่งครัดมากจะไม่ให้เขยหรือสะใภ้เข้าไปในห้องนี้เด็ดขาด และอีกห้องหนึ่งคือ ห้องผู้หญิง อาจเป็นห้องของลูกสาวเอาไว้แต่งตัว เก็บข้าวของ และนอน ส่วนผู้ชายก็จะอยู่อาศัยบริเวณที่กว้างรอบ ๆ ห้อง และบริเวณที่เป็นครัว จะยกพื้นต่ำลงมาจากพื้นที่อยู่อาศัย ใช้เพื่อประกอบอาหารโดยเฉพาะ
ภาษา
ภาษาญ้อมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียนลักษณะจะคล้ายกับภาษาไทยลาวทั่วไป เพราะเป็นภาษาถิ่นย่อยของลาว แต่ภาษาญ้อจะแตกต่างกับภาษาไทยลาวในด้านการออกเสียง โดยภาษาญ้อจะมีเสียงแหลมและมีการทอดเสียงมากกว่าภาษาไทยลาวทั่วไป
การแต่งกาย
ผู้ชาย สวมกางเกงขาก๊วย ทำด้วยผ้าฝ่ายย้อมด้วยสีครามหรือสีดำ ผู้สูงอายุอาจนุ่งโสร่ง ผ้าฝ้าย หรือผ้าไหม สำหรับ ผู้มีฐานะดี ในเวลาทำงานในหมู่บ้านไปไร่ ไปนา จะนุ่งกางเกงขาสั้นมีความยาวเลยเข่าเล็กน้อย อาจใช้สีคราม สีขาว หรือนุ่งโจงกระเบน ชาติพันธุ์ญ้อ เรียกว่า ผ้ายาว หรือ ผ้าเขิน ทำด้วยไหม จะนุ่งในโอกาสพิเศษ เสื้อใช้ทั้งไหมและฝ้ายตามฐานะทางสังคม และโอกาสในการใช้งาน
ผู้หญิง นุ่งผ้าถุง เรียกว่า ชิ่นคั่น มีทั้งชิ่นคั่นฝ้ายและชิ่นคั่นไหมเรียกตามวัสดุที่ทอจะต่อหัวต่อตีนด้วยผ้าฝ้ายสีดำ ผู้มีฐานะจะใช้ชิ่นคั่นไหม นุ่งไปงานบุญหรือในโอกาสพิเศษ เสื้อจะตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ตัดเป็นเสื้อแขนกุดผ่าอกติดกระดุมหน้า ตัวเสื้อยาวลงมาคลุมสะโพก ไม่มีกระเป๋า นิยมสีนวล สีครีม เวลาอยู่บ้าน
ประเพณีสำคัญ
แห่ปราสาทผึ้ง
แห่ปราสาทผึ้งเป็นประเพณีเก่าแก่ของคนชาติพันธุ์ญ้อ ซึ่งจะทำในวันออกพรรษาคือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 คนชาติพันธุ์ญ้อจะช่วยกันสร้าง และตกแต่งปราสาทผึ้งให้สวยงาม โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครง และรูปร่างปราสาท แล้วนำต้นกล้วยหรือกาบกล้วยทำเป็นหลังคาแกะสลักเป็นลวดลายไทย แล้วนําขี้ผึ้งมาละลายหลอมเป็นรูปดอกไม้โดยใช้แม่พิมพ์จากมะละกอสลักเป็นลวดลาย ที่ต้องการจุ่มลงในขี้ผึ้งเหลว แล้วแช่ลงน้ำให้ขี้ผึ้งแข็งตัว นำไปเสียบบนปราสาทผึ้ง ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เป็นการเฉลิมฉลองปราสาทผึ้ง เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของปราสาทผึ้ง และคนทั่วไป จากนั้นจะถวายปราสาทผึ้งเป็นพุทธบูชาในวันรุ่งขึ้นคือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
อาหาร
แกงยอดหวาย
ส่วนใหญ่คนชาติพันธุ์ญ้อ อรัญประเทศ รับประทานข้าวเจ้า เป็นอาหารหลัก ต่างจากคนชาติพันธุ์ญ้อ ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รับประทานข้าวเหนียว อาหารคล้ายกับชาวไทย-ลาว จะนําสิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ต้นขนุน มาประกอบอาหาร เช่น แกงหยวกกล้วย และแกงขนุน
นอกจากนี้ยังมีขนมประจำถิ่น คือ ขนมแนบ เรียกอีกอย่างว่าขนมข้าวโพด ขนมแนบจะมีกลิ่นหอมของข้าวโพดและน้ำตาลมะพร้าว
ศิลปะการแสดง
ฟ้อนไทยญ้อ
ฟ้อนไทยญ้อ โดยจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน และเทศกาลที่สำคัญ ๆ เท่านั้น ในช่วง สงกรานต์ ชาวชาติพันธุ์ญ้อ จะมีการสรงน้ำพระในตอนกลางวัน โดยมีการตั้งขบวนแห่ จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ตามลำดับ ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นต้นไปจนถึงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 5
สถาปัตยกรรม
ปราสาทเขาน้อย
ปราสาทเขาน้อยหรือปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านคลองน้ำใส ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ห่างจากพรมแดนไทย- กัมพูชา ประมาณ 1 กิโลเมตร ปราสาทหลังนี้เป็นอาคารก่ออิฐไม่ถือปูน 3 หลัง ปัจจุบันเหลือเพียงปราสาทองค์กลางที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนปราสาทอีก 2 หลัง เหลือเพียงส่วนฐานอาคาร ได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้นบริเวณโบราณสถานแห่งนี้ โบราณวัตถุที่พบจาการขุดแต่งปราสาทเขาน้อยได้แก่ ทับหลัง จำนวน 5 ชิ้น จารึกรอบประตูปราสาทองค์กลางระบุปีมหาศักราช 559 หรือปี พ.ศ. 1180 ประติมากรรมบุคคล 4 กร อยู่เหนือศีรษะกระบือ สันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรม นางทุรคาปราบอสูรควาย (มหิษาสุรมรรธนี) ซึ่งปัจจุบันสูญหายนอกจากนี้มีศิวลึงค์ ชิ้นส่วนประติมากรรมบุรุษ และวัตถุสำริด
วัดชนะไชยศรี (วัดเกาะ) - ศาลเจ้าพ่อหอสูง
ศาลเจ้าพ่อหอสูง เป็นที่เคารพของชาติพันธุ์ญ้อ ในชุมชนบ้านอรัญเป็นอย่างมาก มีความศักดิ์สิทธิ์ใครลบสู่จะมีอันเป็นไป ชาวบ้านเล่าลือกันต่อมาว่า เมื่อถึงวันสำคัญ หรือวันเช่นไหว้ประจำปี จะเห็นการปรากฏตัวของเจ้าพ่อหอสูง ในร่างของเสือโคร่งลายพาดกลอนตัวใหญ่ เดินรอบหมู่บ้าน หรือนอนตีหางอยู่ใต้ศาล คนแก่เล่าต่อมาว่าสมัยสงครามอินโดจีน เจ้าพ่อหอสูงจะเป็นผู้นําทหารไทยไปปราบข้าศึก โดยเป็นเสือโคร่งเดินนําหน้าทหารและจะคอยปกป้องคุ้มครอง สมัยสงครามอินโดจีน ที่เกิดการสู้รบของเขมรแดงได้มีการยิ่งปืนใหญ่หรือระเบิดตกลงมาที่หมู่บ้านอรัญจะไม่ปรากฏว่าระเบิดหรือเป็นอันตรายแก่คนอรัญเลย
ภูมิปัญญา
ชาติพันธุ์ญ้อ ในชุมชนบ้านคลองน้ำใส ส่วนใหญ่ทำการเกษตร มีภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม การจักรสาน เช่น ตะกร้า ข้อง ลอบ ไชร์ ชุ่มไก่ ฯลฯ การทำการเกษตรการทำนาปลูกข้าว